Skip to content
โรงเรียนวัดโสธร จัดตั้งโดยหลวงอำนวยศิลปศาสตร์ธรรมการมณฑลปราจีน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2467 อยู่ในความควบคุมดูแลของ อำมาตย์ขุนอภิรามจรรยา ครูใหญ่โรงเรียนประจำมณฑลปราจีนบุรีฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนวัดโสธร” ขึ้นกับโรงเรียนประจำมณฑลปราจีนบุรีฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์ ได้อาศัยศาลาวัดโสธรวราราม เป็นสถานที่ทำการสอน ในครั้งแรก มีครูประจำเพียง 2 คนเท่านั้น คือ นายง่วนฮก เจียมอาตม์ และ นางฉวี สิงหเสนีย์
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 โรงเรียนวัดโสธรได้โอนจากโรงเรียนประจำจังหวัดไปเป็นโรงเรียนประชาบาล ประจำตำบลหน้าเมือง 1 (วัดโสธร)โดยเปิดสอนตามหลักสูตรประถมศึกษา
วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2479 โอนมาอยู่ในความดูแลของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา โดยใช้ชื่อว่า
“โรงเรียนเทศบาล 3 วัดโสธร” เปิดสอนตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการ
เนื่องจากโรงเรียนอยู่ในเขตเทศบาล ใกล้ที่ทำการขององค์การปรับปรุงส่งเสริมการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ทางราชการจึงได้จัดให้เป็นโรงเรียนทดลองการศึกษาแผนใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2494 มีอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญทั้งคนไทยและต่างประเทศมาแนะนำ และควบคุมการศึกษาในโรงเรียนจนเจริญขึ้น ระยะนี้คณะครูจากหน่วยงานต่าง ๆ มาดูงานโรงเรียนเป็นจำนวนมาก
วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 โรงเรียนได้อาคารประกอบ (หอประชุม) 1 หลัง ส่วนอาคารเรียนก็ได้ปรับปรุง ทำการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จในเวลาต่อมา
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2497 โรงเรียนได้เริ่มสร้างอาคารเรียนจนแล้วเสร็จ เมื่อ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2498 และได้ใช้เป็นสถานที่เรียนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2498
ใน ปีพ.ศ. 2503 โรงเรียนได้เข้ามาอยู่ในข่ายของโครงการการปรับปรุงพัฒนาการศึกษา (ค.พ.ศ.) ได้รับเงินงบประมาณจากโครงการ ค.พ.ศ. และมี T.A. จาก USOM และ ผู้ประสานงานจากศูนย์พัฒนาการศึกษาส่วนกลางมาให้คำแนะนำอยู่เสมอ
วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2508 พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ครั้งที่มีสมณศักดิ์เป็นพระพุทธิรังสี) เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้ออกตรวจบริเวณสถานที่ต่าง ๆ ของบริเวณวัด โดยเฉพาะโรงเรียนเห็นว่าโรงเรียนวัดโสธรเดิม มีนักเรียน 894 คน มีครู 20 คน สังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ทำการสอนตั้งแต่เด็กเล็ก ถึงชั้นประถมปีที่ 7 มีห้องเรียนทั้งหมด 21 ห้อง ตั้งอยู่ริมน้ำสถานที่คับแคบมากเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูล นักเรียนต้องไปแออัดในห้องประชุม ในขั้นแรกได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง 4 ห้องเรียน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน จึงจะต่อเติมอาคารเดิมให้ดีขึ้น แต่เนื่องจากสถานที่คับแคบ ไม่มีทางขยายออกได้ประกอบกับทางด้านหน้าโรงเรียนติดกับแม่น้ำบางปะกง ถูกน้ำกัดเซาะพังอยู่ทุกวัน ไม่มีทางปรับปรุงหรือขยายต่อได้ ท่านจึงมีแนวคิดที่จะสร้างอาคารใหม่ โดยเริ่มซื้อที่ดินทางทิศเหนือของวัดได้ประมาณ 18 ไร่
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ พร้อมด้วยสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ราชกัลยา ฯ ได้เสด็จมาวัดโสธรวรารามฯ ในโอกาสนี้ได้พระราชทานทุนทรัพย์ซึ่งเป็นเงินที่ชาวบ้านทูลเกล้า ฯถวาย เป็นทุนประเดิมจำนวน 95,921.00 บาท (เก้าหมื่นห้าพันเก้าร้อยยี่สิบเอ็ดบาท ) เพื่อปรับปรุงโรงเรียนวัดโสธร ต่อมามีผู้บริจาคสมทบโดยเสด็จพระราชกุศลเพิ่มเติม สามารถซื้อที่ดิน ขยายได้เป็น 30 ไร่ 3 งาน 61 ตารางวา เริ่มทำการก่อสร้างโรงเรียนประมาณ ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ . 2510 เป็นอาคารทรงไทย 3 ชั้น มี 30 ห้องเรียน กว้าง 10 เมตร ยาว 80 เมตร ใต้อาคารเป็นถังเก็บน้ำฝนลึก 3 เมตร ครั้นการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ จึงมีหนังสือขอพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันอาคารเรียน และ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อโรงเรียน ที่สร้างใหม่ว่า “ โรงเรียนวัดโสธรวราราวรวิหาร ” พร้อมทั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512
ในปี พ.ศ. 2512 พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ครั้งที่มีสมณศักดิ์เป็น พระพระธรรมเสนานี ) ได้มีหนังสือขอเปิดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติเป็นทางการ จนกระทั่งใกล้เริ่มปีการศึกษา 2513 โรงเรียนพุทธโสธร จึงได้เปิดทำการสอนเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2513 โดยได้รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวัดโสธรฯ เข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 2 ห้องเรียน มีนักเรียน 54 คน เป็นชาย 29 คนและหญิง 25 คน ต่อมากระทรวงศึกษาธิการจึงอนุมัติประกาศตั้งเป็นโรงเรียนรัฐบาลระดับมัธยม ศึกษาตอนต้น ตามหนังสือจังหวัดฉะเชิงเทราที่ ฉช 23/8923 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2513 และได้อาศัยอาคารสถานที่ร่วมกับโรงเรียนวัดโสธรฯ มาโดยตลอด โดยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดโสธรฯ ได้รับแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพุทธโสธรอีกตำแหน่ง หนึ่ง
ในปี พ.ศ. 2522 พระพรหมคุณาภรณ์ (จิรปญฺโญ ด.เจียม กุลละวณิชย์) ได้เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนให้ใหม่ เป็นอาคาร 2 หลังติดกันมี 72 ห้องเรียน (อาคาร 1 และ อาคาร 2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายเป็นอนุสรณ์สถานในการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ และพระบรมราชวงศ์จักรี ครบ 200 ปี ทั้งได้ขอรับพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ประดิษฐานที่หน้าบันอาคารเรียนโรงเรียนพุทธโสธร และ ได้รับพระราชทาน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2522 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2523 โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้โอนจากกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไปขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ในปีการศึกษา 2526 โรงเรียนพุทธโสธร ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการให้เปิดเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ต่อมา ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบได้สร้างอาคารอเนกประสงค์ หอสมุด พิพิธภัณฑ์สถาน ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช น้อมเกล้า ฯ ถวาย อีก 1 หลังประกอบด้วย
ชั้นล่าง เป็นห้องโล่งใช้เป็นที่ประชุมนักเรียน ประชุมพระสังฆาธิการและจัดงานต่าง ๆ
ชั้นที่ 1 เป็นห้องสมุดให้ นักเรียนและประชาชนทั่วไปได้เข้าศึกษาหาความรู้
ชั้นที่ 3 เป็นพิพิธภัณฑสถาน ใช้เป็นที่รวบรวมของเก่าล้ำค่า หาดูยากไว้ให้ศึกษาค้นคว้าสืบไปโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2531 ตามเจตนาเดิมของ พระพรหมคุณาภรณ์
พระพรหมคุณาภรณ์ (จิรปญฺโญ ด.เจียม กุลละวณิชย์) มีความประสงค์ที่จะให้รวม โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหารและโรงเรียนพุทธโสธร ทั้งสองเป็นโรงเรียนเดียวกัน เพื่อให้การบริหารทางวิชาการ ทางกิจกรรม และการปลูกฝังอบรมบ่มนิสัย ด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้แก่เด็กอยู่ในแนวทางเดียวกันและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้โรงเรียนทั้งสองยังอยู่ในบริเวณเดียวกันอีกด้วย
ต่อมาจึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการรวมโรงเรียนขึ้น เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งมีปัญหาติดขัดในแง่กฎหมาย แต่ในที่สุดก็ได้แนวทางรวมโรงเรียนโดยมิต้องแก้กฎหมายในรูป “โครงการรวมโรงเรียนพุทธโสธรและโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร” และในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอให้โรงเรียนพุทธโสธรและโรง เรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร รวมเป็นโรงเรียนเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนพุทธโสธร” สังกัดกรมสามัญศึกษา จัดการเรียนการสอนเป็นแบบพิเศษ เปิดสอนทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา
โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหารกับโรงเรียนพุทธโสธร ซึ่งเคยอยู่รวมกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 – 2527 มีผู้บริหารคนเดียวกันมาเป็นเวลา 13 ปี แต่ต้องแยกจากกันตามพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาล ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2523 มาตรา 12, 13 และมาตรา 14 ได้มีโอกาสกลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง ตามมติคณะรัฐนมตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2535 โดยคณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประกาศเลิกล้มกิจการโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2536 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2555 พระราชมงคลรังษี เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้มีลิขิตที่ วสธ 008/2554 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2554 แจ้งทางโรงเรียนพุทธโสธร ให้ทราบมติของมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ 6/2554 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตธรณีสงฆ์หรือในเขตของวัดให้ใช้คำว่า “วัด” นำหน้า ชื่อโรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่ตัดคำว่า “วัด” ออกจากชื่อโรงเรียนไปให้กลับนำมาใส่เหมือนเดิมเพื่อเป็นการเชื่อมโยงความเป็นมา และอุปการคุณที่วัดมีต่อโรงเรียน โรงเรียนได้ดำเนินการเสนอเพื่อขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียน และคณะกรรมการการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 6 ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนพุทธโสธรเป็นโรงเรียนวัดโสธรวราราวรวิหาร โดยใช้ชื่อซึ่งพระราชทานเดิม ตามหนังสือที่ รล 0002/3184 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2511 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ออกแบบโดย dsite.in.th